"เมื่อตะวันยอแสงเรี่ยวแรงก็เริ่มอ่อนล้า พักลงตงนี้ที่เดิมแล้วหลับตา ชมลม ชมไทย จะพาเรี่ยวแรงคุณกลับคืน"

ชมไทย www.chomthailand.com ติดต่อโฆษณา บทความ แนะนำการท่องเที่ยว IDLINE : akechomthai T. 089-780 1770 e-mail : chomthailand@gmail.com

โฮมสเตย์ วิถีชีวิต ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  Chomthailand

 ลืมรหัสผ่าน
 ลงทะเบียน

"สุไหงอูเป" ความงามที่ถูกซ่อนไว้ในกาลเวลา >>(บุษบาบัณ : เรื่อง/ประพจน์ ภาพ)

ความนิยม 1เข้าชม/อ่าน 1921 ครั้ง2016-4-9 22:09 |เลือกหมวดหมู่:job trip

   

    ในช่วงเวลาที่ท้องฟ้ายังไม่หมดอาลัยจากเมฆฝน หน้าที่ในชีวิตได้พาฉันและทีมงานมาหยุดอยู่ที่เมืองทุ่งหว้า เมืองเล็กๆ ที่เงียบสงบแห่งหนึ่งในจังหวัดสตูล เมืองเล็กๆ ที่มองเผินๆ ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรที่เรียกว่า “ศิวิไลซ์” ให้หวือหวา ชาวบ้านมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย อยู่กันอย่างปกติสุข ไม่ใช่จุดเช้คอินหลักๆ ของการท่องเที่ยวสตูลอย่าง หลีเป๊ะ หรือ ตะรุเตา แต่กระนั้นความรู้สึกบางอย่างบอกกับฉันว่า เมืองๆนี้ มีเสน่ห์บางอย่างที่น่าค้นหา มีเรื่องราวที่ถูกซ่อนไว้ในกาลเวลาในยุคสมัยต่างๆ อย่างน่าสนใจ และมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ


100 ปีก่อน....กับอดีตปีนังน้อยอันรุ่งเรือง

          ในอดีต อ.ทุ่งหว้าหรือเมืองสุไหงอูเป เป็นชุมชนที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของจังหวัดสตูลเดิมขึ้นอยู่กับการปกครองของเมืองไทรบุรี และเรียกกันในหมู่นักเดินเรือผู้มาทำการค้าขายว่าเมืองสุไหงอุเป ซึ่งเป็นคำที่มาจากภาษามาลายู แยกเป็น 2 คำ คือ คำว่า สุไหงแปลว่า คลองเนื่องจากสภาพพื้นที่ของทุ่งหว้าในสมัยนั้นมีอาณาเขตติดกับชายทะเลมีคลองหลายสาย ส่วนคำว่า อุเปแปลว่า กาบหมากเกิดจากต้นไม้ ชนิดหนึ่ง เรียกเป็นภาษาถิ่นว่า "หลาวชะโอน" ขึ้นอยู่ตลอดแนวริมคลอง มีลักษณะคล้ายต้นหมาก โดยเฉพาะกาบใบ เมื่อกาบใบแก่จะร่วง ลอยเพ่นพ่านอยู่ในลำคลองโดยทั่วไป ชาวต่างชาติเข้ามาค้าขายจึงเรียกกันว่า"คลองสุไหงอุเป" ซึ่งกลายเป็นชื่อเมืองในที่สุด คือ "สุไหงอุเป" แปลว่าคลองกาบ หมาก นั่นเอง


      เมืองสุไหงอุเปในอดีตมีความเจริญรุ่งเรืองมาก ถือว่าเป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญของชายฝั่งทะเลตะวันตก เป็นรองก็แต่เมืองปีนัง มีสินค้าส่งออกที่สำคัญจำนวนมาก ได้แก่ พริกไทย ไม้ฟืน (ต้นโกงกาง) แต่ที่ขึ้นชื่อที่สุดคือพริกไทย โดยแยกผลิตเป็นพริกไทยขาว และพริกไทยดำ ทำให้ชาวจีนซึ่งมีความขยันและมีอยู่โดยทั่วไป อพยพเข้ามาทำมาหากินตั้งหลักแหล่งเพาะปลูกพริกไทยเป็นจำนวนมาก (ประมาณ พ.ศ. 2444) สร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่เมืองสุไหงอุเปเป็นอย่างมากจนกลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศและเมืองใกล้เคียงโดยเฉพาะเกาะปีนัง  มีเรือกลไฟจากต่างประเทศมาติดต่อค้าขายเป็นประจำ สินค้าออกที่สำคัญ คือ พริกไทย การปลูกพริกไทยได้รับการส่งเสริมโดยเชิญชาวจีนจากเกาะปีนัง ที่เข้ามาสาธิตเป็นตัวอย่าง ทำให้เมืองทุ่งหว้ามีความเจริญรุ่งเรืองมากรองจากปีนัง จนได้รับการขนานนามจากชาวต่างประเทศว่า "ปีนังน้อย" หรือ "ปีนัง2"  





 

     ในอดีต เมืองทุ่งหว้าจะมีการจัดงานมหรสพเฉลิมฉลองบ่อยโดยจะมีการแสดงงิ้ว หุ่นจีน หนังตะลุง ลิเกป่า และมโนราห์ คราวละหลายคืน เนื่องด้วยเป็นเมืองที่เศรษฐกิจดี  ผู้คนมีงานทำ ทำมาค้าคล่องเพราะว่ามีพ่อค้าชาวจีน ญี่ปุ่น และชาติอื่น ๆ มาติดต่อค้าขายทำให้มีการหมุนเวียนของเงินมาก  แต่ต่อมาก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจในภายหลัง  มีการย้ายฐานความเจริญไปที่อำเภอละงูแทน ส่วนพื้นที่ อ.ทุ่งหว้าก็ค่อยๆกลายเป็นพื้นที่ปลูกยางพารา สภาพเศรษฐกิจและการค้าขายกับต่างประเทศก็ค่อยๆลดลง  จากความรุ่งโรจน์กลายเป็นเมืองที่เงียบเหงาอยู่นานหลายปี  จนภายหลังพื้นที่ตำบลทุ่งหว้าก็กลับมีความเจริญขึ้นมาอีกครั้งภายหลังการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4078 สายฉลุง- ตรัง ( สาย ๔๑๖ ) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๖ จนถึงปัจจุบัน




       ปัจจุบันนี้เราสามารถพบร่องรอยอดีตอันเจริญรุ่งเรืองของเมืองสุไหงอูเปหรือทุ่งหว้าในปัจจุบัน จากอาคารห้องแถวโบราณในตลาดทุ่งหว้านั่นเอง ในตลาด อ.ทุ่งหว้าเราจะสามารถพบเห็นตึกแถวเก่าแก่อายุประมาณ ๘๐-๙๐ ปี มีประมาณ ๑๐๐ คูหา บนถนนสายที่มุ่งสู่ท่าเรือ  ตึกแถวดังกล่าวเป็นการก่อสร้างแบบตะวันตกผสมแบบจีน เสาและผนังก่ออิฐ โบกปูน หลังคามุงกระเบื้องกาบกล้วย พื้นชั้นล่างเทคอนกรีตขัดมัน บางตอนปูกระเบื้องข้าวหลามตัด พื้นชั้นบนปูเพดาน ประตูหน้าต่างเป็นแบบสองบาน ใส่บานเกล็ดทำด้วยไม้ตีขวาง การตกแต่งภายในเป็นศิลปะแบบจีน

 




1.8 ล้านปีก่อน...อดีตถิ่นอาศัยของช้างดึกดำบรรพ์ 



          นอกจากอดีต
100 ปีก่อนของเมืองสุไหงอูเปแล้ว หากเราหมุนเข็มนาฬิกาย้อนถอยหลังไปไกลซักนิด ซัก 1.8 ล้านปีก่อน บริเวณ อ.ทุ่งหว้า นั้นคืออดีตถิ่นอาศัยของช้างดึกดำบรรพ์ อันจะพบหลักฐานได้จาก ถ้ำเลสเตโกดอน ใน อ.ทุ่งหว้า ถ้ำแห่งนี้เดิมชื่อถ้ำวังกล้วย ถูกค้นพบโดยชาวประมงที่เข้าไปหากุ้งก้ามกรามและได้พบกับถ้ำขนาดใหญ่  มีความยาวถึง กิโลเมตร  และมีรูปร่างแปลกตา มีหินงอกหินย้อยที่งดงาม ต่อมาเมื่อเดือนเมษายนปี 2551 ชาวบ้านตำบลลิพัง อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรังพร้อมเพื่อนอีก 3 คน เดินทางเข้าไปในถ้ำวังกล้วยเพื่อดำน้ำจับกุ้งก้ามกรามขณะดำน้ำ พบซากดึกดำบรรพ์ลักษณะเป็นหินสีน้ำตาลไหม้น้ำหนักประมาณ 5.3 กิโลกรัมยาวประมาณ 44 เซนติเมตร สูงประมาณ 16 เซนติเมตรห่างจากปากทางเข้าถ้ำด้านหมู่บ้านคีรีวงประมาณ 1.6 กิโลเมตรจึงเก็บซากนั้นไว้ และนำไปมอบให้กับทางอำเภอทุ่งหว้า  




          โดยนำไปเก็บไว้ที่สถานีตำรวจภูรทุ่งหว้า  ในขณะนั้นมีการนำเสนอข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ จนผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประเทือง จินตสกุล 
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระเกียรติ  มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้ทราบข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์จึงได้มอบหมายให้อาจารย์จรูญ ด้วงกระยอมและคณะ เดินทางไปศึกษาชิ้นตัวอย่าง พบว่า ซากดึกดำบรรพ์ดังกล่าวเป็นซากกระดูกขากรรไกรพร้อมฟันกราม ซี่ที่ 2 และ 3 ด้านล่างขวาของช้างดึกดำบรรพ์สกุลสเตโกดอนมีอายุอยู่ในช่วงสมัยไพลสโตซีน  อายุโดยเฉลี่ยประมาณ
1.8 ล้านปีก่อน ถือเป็นการค้นพบซากดำดำบรรพ์ประเภทสัตว์งวงครั้งแรกของภาคใต้  ซึ่งอาจารย์จรูญสันนิษฐานว่าซากดังกล่าวอาจถูกกระแสน้ำทะเลจากปากถ้ำด้านที่ติดทะเลพัดพาเข้ามาอยู่ในถ้ำ ซึ่งปัจจุบันชิ้นส่วนนี้ได้ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้า นอกจากนั้นภายในถ้ำดังกล่าวยังพบร่องรอยฟอสซิลของสาหร่ายทะเลยุคโบราณจำนวนมากอีกด้วย



 


ถ้ำเลที่ยาวที่สุดในคาบสมุทร ไทย-มาเลย์


      และเนื่องด้วยการค้นพบชิ้นส่วนฟอสซิลของช้างดึกดำบรรพ์นั่นเอง จึงนำไปสู่การจัดตั้งเป็น
SATUN GEOPARK หรือ อุทยานธรณีสตูล และปัจจุบันถ้ำเลสเตโกดอนได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เริ่มมีชื่อเสียงของ จ.สตูล เพราะว่าเป็น ถ้ำเลที่มีความยาวทีสุดในคาบสมุทรไทย-มาเลย์ และมีความงดงามทางธรรมชาติอันวิจิตร

           นายณรงฤทธิ์ ทุ่งปรือ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้า เล่าว่า  ธรณีวิทยาของถ้ำเลสเตโกดอน เป็นถ้ำหินปูนชั้นบางยุคออค์โดวิเชียน แนวถ้ำมีหลายทิศทางและบางทิศทางก็ตั้งฉากกัน ทั้งนี้สามารถสังเกตุเห็นร่องรอยแตกเป็นแนวเล็กๆ บนเพดานถ้ำที่มีแนวหินย้อยเรียงเป็นแนวไปตามแนวร่องนั้นๆ ร่องเล็กๆ เหล่านี้อาจพิจารณาได้ว่าเป็นแนวรอยแตกของหินปูนที่น้ำท่าและน้ำฝนสามารถซึมผ่านเข้าไปแล้วกัดละลายเกิดเป็นโพรงขยายใหญ่ขึ้นตามกาลเวลา บ้างก็เกิดเป็นหินย้อยและหินงอกที่สวยงาม นานเข้าการละลายของหินปูนตามแนวรอยแตกเหล่านี้ได้แผ่ขยายออกไปจนทะลุออกด้านที่เป็นทะเล ซึ่งเมื่อหลายพันปีก่อนระดับน้ำทะเลมีระดับที่สูงกว่าระดับปัจจุบันประมาณ 4-5 เมตร คลื่นทะเลได้ซัดเข้าไปในถ้ำซึ่งทำให้เกิดเว้าทะเลบริเวณปากถ้ำด้านติดทะเล ซึ่งการท่องเที่ยวภายในถ้ำเลสเตโกดอนนักท่องเที่ยวจะต้องมีจินตนาการในการมองรูปร่างของหินงอก หินย้อย และเพดาน ผนัง ถ้ำ ที่กาลเวลาและน้ำทะเลนับล้านๆปีได้กัดเซาะเป็นรูปร่างต่างๆ มากมาย อาทิ รูปหน้านางฟ้า ภาพจิตรกรรมฝาผนัง 




          จุดลงเรือท่องเที่ยวถ้ำเลสเตโกดอนนั้นอยู่ที่ บ้านคีรีวง ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า ติดทางหลวงหมายเลข
416 การท่องเที่ยวสำรวจภายในถ้ำจำเป็นต้องใช้เรือคายัคเป็นพาหนะในการเดินทางเข้าไปในถ้ำ  ถ้ำเลแห่งนี้จะมีเวลาน้ำขึ้นน้ำลง ในวันข้างขึ้นข้างแรมตามระดับน้ำทะเล  ซึ่งก่อนที่นักท่องเที่ยวทุกคนจะลงเรือสำรวจถ้ำได้จะต้องรับฟังการบรรยาย ข้อปฏิบัติต่างๆ ในการท่องเที่ยวถ้ำจากเจ้าหน้าที่ และสวมเสื้อชูชีพและหมวกกันน๊อคป้องกันอันตราย และไฟฉายคาดหัว ก่อนลงเรือเข้าถ้ำ  โดยการนั่งเรือคายัคท่องเที่ยวถ้ำ จะมีเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรมเป็นผู้พายเรือ เพราะการเดินทางภายในถ้ำในบางช่วงต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ บางช่วงน้ำลดลงจนต้องลงเดินในช่วงหน้าแล้ง บางช่วงต้องยกเรือข้ามเกาะแก่งในกระแสน้ำเชี่ยว เป็นความสนุกตื่นเต้นในการเดินทางอย่างหนึ่งที่เราจะได้พบเจอในถ้ำเลแห่งนี้ นอกจากนั้นฝีพายทุกคนยังได้รับการอบรมการเป็นไกด์นำเที่ยวเพื่อให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยว ทำให้การเดินทางระยะทาง 4 กิโลเมตรภายในถ้ำเลที่ยาวที่สุดในประเทศไทยสนุกสนาน ได้ความรู้ และมีเรื่องราวให้เราตื่นตาตื่นใจได้ตลอดการเดินทาง




         และนี่คือเรื่องราวความงดงามของเมืองสุไหงอูเป กับความงามที่ถูกซ่อนไว้ในกาลเวลา ยอมรับว่าเมื่อได้ฟังเรื่องราวต่างๆ ของเมืองนี้ อดจินตนาการตามไปไม่ได้ว่าที่แห่งนี้ เมื่อ 100 ปีที่แล้วเมืองสุไหงอูเป จะรุ่งเรืองและงดงามเพียงใด และ เมื่อล้านปีที่แล้วเจ้าช้างสเตโกดอนที่อาศัยอยู่ในอาณาบริเวณนี้จะมีความเป็นอยู่ในธรรมชาติอย่างไร นี่ล่ะมั๊งคงเป็นเสน่ห์ของสิ่งที่เรียกว่า “อดีต”  ชวนค้นหา และก่อให้เกิดจินตนาการอยู่เสมอ แล้วสักวันฉันจะกลับมาอีกครั้งนะ  “สุไหงอูเป”



 

การเดินทาง ถ้ำเลสเตโกดอน บ้านคีรีวง ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล สามารถเดินทางโดยใช้เส้นทางหมายเลข 416 จากอำเภอทุ่งหว้าไปประมาณ 10 กิโลเมตร สังเกตป้ายนำทางให้เลี้ยวซ้ายไปในสวนยางพาราอีก 100 เมตร 
          ถ้ำเลสเตโกดอน มีกลุ่มชาวบ้านบริการนำเที่ยวด้วยเรือคายัค ระยะทาง
4 กิโลเมตร ใช้เวลา 2 ชั่วโมงโดยประมาณ
ค่าบริการประมาณ 300-400 บาทต่อคน  นักท่องเที่ยวควรเตรียมเสื้อผ้าให้พร้อมสำหรับการเปียกน้ำ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ นายก อบต.ทุ่งหว้า 091-034-5989 



1

เยี่ยมมากเลย

เข้าใจเลย

เห็นด้วยๆ

ซึ้งจังเลย

ขำฮาตรึม

มีผู้แสดงความรู้สึก (1 คน)

ความคิดเห็น (0 ความคิดเห็น)

facelist doodle วาดภาพ

คุณต้องลงชื่อเข้าใช้ก่อนจึงจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

เที่ยวทะเลตราด

Archiver|WAP|ชมไทย ชมไทยแลนด์ ชมลม ชมไทย www.chomthai.com www.chomthailand.com ติดต่อ IDLINE : akechomthai Tel. 089-780 1770 e-mail : chomthailand@gmail.com

GMT+7, 2024-4-25 18:06 , Processed in 0.330880 second(s), 16 queries .

Powered by Discuz! X2.5 Patch R20130222

© 2001-2012 Comsenz Inc.

ขึ้นไปด้านบน