"เมื่อตะวันยอแสงเรี่ยวแรงก็เริ่มอ่อนล้า พักลงตงนี้ที่เดิมแล้วหลับตา ชมลม ชมไทย จะพาเรี่ยวแรงคุณกลับคืน"

ชมไทย www.chomthailand.com ติดต่อโฆษณา บทความ แนะนำการท่องเที่ยว IDLINE : akechomthai T. 089-780 1770 e-mail : chomthailand@gmail.com

โฮมสเตย์ วิถีชีวิต ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  Chomthailand

 ลืมรหัสผ่าน
 ลงทะเบียน

ความสมดุล และลมหายใจ ของจันทบุรี (ตอน 2)

ความนิยม 2เข้าชม/อ่าน 2672 ครั้ง2013-6-11 20:42 |เลือกหมวดหมู่:ท่องเที่ยวเมืองจันทรบุรี


ความสมดุล และลมหายใจ ของจันทบุรี (ตอน 2) 


พิพิธภัณฑ์มีชีวิต มรดกแห่งความทรงจำ ที่เมืองจันทร์

หลังจากเสร็จจากอาหารมื้อเที่ยงอันโอชะกับร้าน "จันทรโภชนา" ฉันยังพอมีเวลาเหลือมากมายที่จะพาตัวเอง เข้าไปค้นหาความงดงาม และประวัติศาสตร์ที่ซ่อนเร้นแห่งอดีตของจันทบุรี อย่างที่บอกความสมดุลของชีวิตกับการใช้เวลาท่องเที่ยว บางครั้งมักจะไม่ค่อยลงตัวกันในวิถีสังคมปัจจุบัน แต่เพียงแค่ฉันเลือกที่จะค้นหามุมมองใหม่ๆของชีวิต จันทบุรีกับการท่องเที่ยวจึงเป็นตัวเลือกสดใหม่ ที่พร้อมให้ฉันเข้าไปค้นหาอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด 

ฉันไม่รู้ว่าเมืองจันทร์มีความสำคัญกับประวัติศาสตร์แห่งเอกราชอย่างไร  ฉันไม่รู้ว่าอดีตแห่งความสูญเสียมันจารึกลงไปในหัวใจคนเมืองจันทร์อย่างไร ฉันรู้แต่เพียงอย่างเดียวว่าเมืองจันทร์เป็นที่เมืองที่สมเด็จพระเจ้าตากสิน มารวบรวมไพร่พล ก่อนเข้าไปบุกกรุงศรีอยุธยา และนำพาเอกราชกลับคืนสู่อาณาจักรสยาม แค่ถ้อยคำนำพาไปสู่การตามรอยประวัติศาสตร์กับสถานที่จริง ซึ่งตอนนี้ฉันได้ยืนอยู่หน้า "ค่ายตากสิน" หรือกองพันทหารราบที่ 2 แล้ว โดยก่อนจะเข้าไปค้นหาประวัติศาสตร์ ฉันต้องมากราบสิ่งศักดิ์สิทธ์คู่เมืองจันทบุรีเสียก่อน


โดยด้านขวามือของค่ายตากสินเป็นที่ตั้งของ "ศาลหลักเมืองจันทบุรี" ซึ่งแต่เดิมก่อด้วยศิลาแดง สร้างโดยพระเจ้าตากในปี  เมื่อปีพ.ศ. 2310 ครั้งใช้เมืองจันทร์เป็นที่รวบรวมไพร่พล ศาสตราวุธ ยุทธภัณฑ์และเสบียงอาหารเพื่อไปกอบกู้กรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ศาลแห่งนี้ทรุดโทรมลงมาก มีทั้งต้นโพธิ์  ต้นข่อยปกคลุมมากมาย จนในปี พ.ศ. 2524 ทางจังหวัดได้ก่อสร้างศาลและหล่อองค์เจ้าพ่อหลักเมืองขึ้นใหม่ จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2526 มีลักษณะเป็นแท่งศิลาประดิษฐานภายในอาคารทรงไทยแบบจัตุรมุข ก่ออิฐถือปูน มีช่อฟ้าใบระกาและปรางค์ที่ด้านบนอาคาร เป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองจันทร์  แม้รูปทรงจะแปรเปลี่ยนไป แต่ความศรัทธายังคงอยู่ในหัวใจและความเชื่อของชาวจันทบุรีเสมอมา ดังเช่นปัจจุบันที่คงเห็นชาวบ้านมาสักการะศาลหลักเมืองอย่างไม่ขาดสาย


ศาลหลักเมือง ที่ผู้คนส่วนใหญ่ ทั้งชาวจันทบุรีเอง หรือจะเป็นนักท่องเที่ยวทั่วไป ต่างมากราบไหว้ขอพรมากมาย





หลังจากสักการะ ศาลหลักเมืองจันทบุรีเสร็จแล้ว ก็ข้ามไปอีกฝั่งด้านซ้ายของถนนหน้าค่ายตากสิน เพื่อไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองจันทร์อีกแห่งนั้นคือ "ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน" ซึ่งเป็นเหมือนหลักบ่งบอกความผูกพันของชาวเมืองจันทร์กับสมเด็จพระเจ้าตากสิน ซึ่งเป็นที่เคารพบูชามาช้านาน โดยศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินหลังเดิมสร้างในปี พ.ศ.2463 สมัย ม.จ.สฤษดิเดชชยางกูร เป็นสมุหเทศาภิบาล มณฑลจันทบุรี เป็นศาลาคอนกรีตสี่เหลี่ยมจัตุรมุตข ภายในเป็นที่ประดิษฐานเทวรูป ซึ่งเป็นเทพเจ้าประจำพระองค์พระเจ้าตาก ในขณะนั้นยังไม่มีพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสิน ประดิษฐานเช่นปัจจุบัน  แต่ในปี พ.ศ. 2534 ชาวจันทบุรีได้ร่วมกันบริจาคเงินสร้างศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ หลังใหม่ขึ้นเป็นศาลทรงเก้าเหลี่ยม หลังคาเป็นรูปพระมาลา และจัดสร้างพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มาประดิษฐ์สถานในศาลแห่งนี้ด้วย ชาวจันทบุรีถือว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระมหากรุณาธิคุณทำให้จันทบุรีเป็นที่รู้จัก และเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การกอบกู้เอกราชคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 ในฐานะเป็นฐานที่มั่นของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ระหว่างการรวบรวมไพล่พลรวมถึงเสบียงอาหาร เพื่อไปกอบกู้เอกราชกลับมา  


ศาลทรงเก้าเหลี่ยม หลังคาเป็นรูปพระมาลา



พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่เคารพรักของชาวเมืองจันทร์


รูปเคารพท่านพระยาพิชัย ดาบหัก ทหารเอกของสมเด็จพระเจ้าตากสิน


สมเด็จพระเจ้าตากสินตั้งอยู่ทางซ้ายมือบริเวณประตูทางเข้าค่ายตากสิน



หลังจากสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเสร็จ ฉันก็ได้เดินเข้าไปในค่ายตากสิน เพื่อไปเยี่ยมชมและเรียนรู้ประวัติศาสตร์มากขึ้น นอกจากเรื่องราวกอบกู้เอกราชของสมเด็จพระเจ้าตากสินแล้วนั้น จันทบุรียังเป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์จากวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ที่ฝังอยู่ในหัวใจชาวเมืองจันทร์ตลอดมา


ฉันเดินผ่านประตูค่ายตากสินเข้ามา ด้านขวามมือจะเห็นตึกทรงยุโรปสีแดงส้ม เด่นตระหง่านท้าทายต่อมประวัติศาสตร์ให้น่าค้นหาเสียยิ่งกระไร “สวัสดีครับ  ผม ‘พ.จ.อ.องอาจ มาศแสวง’ สังกัด กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 กองพลนาวิกโยธินทหาร ภายใต้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ แห่งราชอาณาจักรไทย” เสียงดังก้องกังวาลจากด้านหลัง ทำให้ฉันพลันสายตาจากเจ้าตึกสีแดงส้มมองกลับหลัง พบทหารร่างสูงใหญ่ยืนตรงแบบชายชาติทหาร ไม่ทันจะที่ฉันเอยวาจา พี่ทหารคนนั้นก็กล่าวทักทายฉันด้วยความเป็นมิตรไมตรีของเจ้าบ้านที่ดี แน่นอนครับการมาค่ายทหารอย่างนี้ อยู่เราจะเดินเข้ามาเฉยๆ แบบเดินเล่นในห้างสรรพสินค้า หรือเดินตามสยามคงไม่ใช่ การมาเยี่ยมชมค่ายทหารควรติดต่อทำเรื่องขอเยี่ยมชมก่อน หรือง่ายๆ เมื่อมาถึงหน้าค่ายก็ติดต่อพี่ทหารได้เลยครับ ว่าเราอยากมาเยี่ยมชมประวัติศาสตร์ของค่ายตากสินแห่งนี้ ซึ่งไม่นานนัก ทางค่ายก็จะส่ง พ.จ.อ.องอาจ มาศแสวง หรือ "จ่าแบล็ก" มาเป็นผู้นำชมให้ครับ  เหตุใดเราต้องมาเยี่ยมชมค่ายทหารแห่งนี้ คำตอบของคำถามน่าจะอยู่กับบทสนทนาระหว่างฉันกับ "จ่าแบล็ก" ที่ย้อนรอยประวัติศาสตร์ให้ลึกไปตามจินตนาการจะนำพา 

ด้านหน้าอาคารกองรักษาการณ์ของทหารฝรั่งเศส


ด้านข้าง อาคารกองรักษาการณ์ของทหารฝรั่งเศส



น้าต่างด้านข้าง อาคารกองรักษาการณ์ของทหารฝรั่งเศส


ภายในอาคารกองรักษาการณ์ของทหารฝรั่งเศส



อนุเสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ภาคในค่ายตากสิน


 พ.จ.อ.องอาจ มาศแสวง  หรือจ่าแปล็ก ไกค์พิเศษที่นำชม และเล่าประวัติศาสตร์ของค่ายตากสินให้ฟัง


ค่ายตากสินแห่งนี้ แต่เดิมคือพื้นที่ตั้งของเมืองจันทบุรีเก่าหรือบ้านลุ่ม ตั้งแต่สมัยต้นกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏคูน้ำ และกำแพงเมือง หรือคันดินให้เห็นในปัจจุบัน โดย สมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือหรือพระยาวชิรปราการ(สิน) รวบรวมพลทหารไทย จีน ได้ 500 คน ตีฝ่าวงล้อมพม่าทางทิศตะวันออกมาที่เมืองจันทร์แห่งนี้  "จ่าแบล็ก" พูดไปพรางชี้คันดินสูงประมาณ 1 เมตร ว่าในอดีตที่ตรงนี้คือประตูเมืองจันทร์ที่ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงช้างพังคีรีบัญชร เข้าโจมตีเมืองจันทบุรี  และยึดเอาเป็นฐานตั้งมั่น  ซึ่งเหตุผลที่สมเด็จพระเจ้าตากสินใช้เมืองจันทร์เป็นฐานทางยุทธศาสตร์ ด้วยเป็นหัวเมืองทางชายทะเลที่ปลอดจากสงคราม ทั้งมีความอุดมสมบูรณ์ด้านพืชพันธัญญาหาร รวมทั้งยังเป็นชุมชนชาวจีนแต้จิ๋ว ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากมีเชื้อสายจีนแต้จิ๋วและเคยเป็นพ่อค้ามาก่อน จึงได้รับความช่วยเหลือจากชาวจีน ในการต่อเรือรบ 100 ลำ ตลอดจนมีผู้สวามิภักดิ์มากขึ้นถึง 5,000 คน แล้วกลับไปตีทัพพม่า กอบกู้เอกราชของชาติไทยกลับคืนมาได้อีกครั้ง 

ช่องทางประตูเมืองจันทบุรี ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงช้างพังคีรีบัญชร เข้าพังประตู


ภายในค่ายตากสินร่มรืนด้วยต้นไม้ใหญ่


"อาคารกองบัญชาการของทหารฝรั่งเศส"


หลังจากฟังจ่าแบล็ก เล่าประวัติแบบเห็นภาพสถานที่จริงให้จิตนาการกันไป สักพักฉันก็มายืนอยู่หน้าอาคารสีแดงสดหลังหนึ่ง ซึ่งเป็น "อาคารกองบัญชาการของทหารฝรั่งเศส" สร้างขึ้นในสมัยที่ฝรั่งเศสเข้ายึดครองเมืองจันทบุรีในช่วงวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยม ตามแบบของยุโรปทั้งรูปทรง และลวดลาย จ่าแบล็กเล่าต่ออีกว่าฝรั่งเศสได้เข้ามายึดครองเมืองจันทบุรีไว้นานถึง 11 ปี จนไทยต้องยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศสไป เพื่อแลกเอาเมืองจันทบุรีกลับคืนมา หลังจากฟังจ่าแบล็กเล่าได้ไม่นานต่อมความอยากรู้ประวัติศาสตร์ของฉันก็เร่งทำงานอีกครั้ง  ฉันเคยร่ำเรียนมาว่า ในช่วงวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ไทยเราเสียดินแดนให้พวกฝรั่งในยุดล่าอาณานิคม ซึ่งตรงกับช่วงสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า รัชกาลที่ 5 แต่ไม่เคยรู้เลยว่ามันเกี่ยวข้องกับเมืองจันทบุรีขนาดไหน นอกจากตึกแดง และคุกขี้ไก่ที่แหลมสิงห์ 


และแล้วจ่าแบล็กก็เล่าประวัติศาสตร์แบบย้อนเวลาให้กระจ่างว่า ใน ปี พ.ศ.2436 หรือ ร.ศ.112 ฝรั่งเศสซึ่งพยายามขยายอำนาจเข้าไปในลาวและเขมร ได้ใช้กำลังบังคับและยื่นคำขาดให้ไทยยกดินแดนของลาวทางฝั่งซ้ายของแม่น้้าโขงกับเขมรส่วนนอก แต่ในระหว่างที่รอคอยให้สัญญาต่างๆ ฝรั่งเศสได้ทำการยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกัน จนถึงปี พ.ศ.2448 เป็นเวลากว่า 11 ปี แต่ลึกๆเหตุผลที่เลือกยึดเมืองจันทบุรีก็เพราะเป็นเมืองที่สำคัญทางด้านยุทธศาสตร์ เป็นจุดที่ควบคุมอ่าวสยามที่ติดต่อกับแหลมมลายูของอังกฤษ เป็นทางผ่านเข้าไปยังสามจังหวัดของไทยที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดด้านทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งได้แก่ บ่อพลอย บ่อไพลิน ในเขตเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ นอกจากนั้นเมืองจันทบุรียังมีท่าเทียบเรือที่ปากแม่น้้าและ มีอู่ต่อเรือระวางตั้งแต่ 300-400 ตัน การยึดจันทบุรีจึงเท่ากับยึดท่าเรืออู่ต่อเรือ และเรืออื่นๆ ไว้เป็นการตัดกำลังไทยทางอ้อมด้วย


อาคารกองบัญชาการของทหารฝรั่งเศส หรือตึกฝรั่งเศส


ซึ่งกองทหารฝรั่งเศสได้ นอกจากจะตั้งค่ายทหารขึ้นภายในบริเวณบ้านลุ่มหรือบริเวณที่เป็นค่ายตากสินในปัจจุบัน ยังตั้งค่ายอีกที่บริเวณปากน้้าแหลมสิงห์ รวมทั้งได้สร้างสิ่งก่อสร้างอีกหลายหลัง ปัจจุบันหลักฐานร่องรอยต่าง ๆ ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเมืองจันทบุรีที่บ้านลุ่มยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ภายในบริเวณค่ายตากสินเท่านั้น สถานที่แห่งนี้จึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่ประวัติศาสตร์ให้เล่ากันสนุกสนาน แต่อาจเป็นมรดกแห่งความทรงจำของชาวจันทบุรี ต่อวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ที่ชาวเมืองจันทร์ ต่างพากันจดจำไว้เป็นอนุสรณ์เตือนใจตลอดเวลา  



ภายในอาคารกองบัญชาการของทหารฝรั่งเศส 


กระเบื้องเก่าของอาคารกองบัญชาการของทหารฝรั่งเศส ซึ่งปัจจุบันทางค่าย ได้ทำการบูรณะ และสั่งกระเบื้องจากบริษัทเดียวเมื่อ 100 ปีก่อน มาปูทดแทนกระเบื้องอันเก่า 


เพียงได้สนทนากับจ่าแบล็กเกี่ยวกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ย่อๆ ตั้งแต่เหตุการณ์กอบกู้เอกราชของสมเด็จพระเจ้าตากสิน จนถึงวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 เท่านี้หัวใจแห่งความรักชาติของฉันก็เริ่มพองโตขึ้นมาอีกครั้ง คำตอบที่ได้รับกับคำถามภายในใจ บางครั้งมันก็ไม่ได้ไปในแนวทางเดียวกัน คนไทยทุกคนเรียนรู้ประวัติศาสตร์กันมานาน เรามีบทเรียนมากมายให้ขบคิด และเอามาเป็นแบบอย่างได้ทุกกรณี แต่ทำไมเหตุการณ์เหล่านี้จึงไม่ได้เข้าไปอยู่ในหัวใจคนไทยเท่าที่ควร คำถามเหล่านี้ยังครุ่นคิดต่อไปในหัวสมองของฉัน แต่อย่างไรก็ตามเพียงเท่านี้ความสมดุลของการท่องเที่ยวจันทรบุรีก็ทำให้รสชาติวันหยุดอันน้อยนิดของฉันมีสาระขึ้นอีกเป็นกอง  จันทบุรีจึงไม่ใช่เมืองทางผ่านอีกต่อไปอย่างน้อยๆ ก็มีสิ่งต่างๆให้ค้นหาอีกมากมาย 

ขอขอบคุณ : พ.จ.อ.องอาจ มาศแสวง’ สังกัด กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 กองพลนาวิกโยธินทหาร  แห่งค่ายตากสิน จันทบุรี





เยี่ยมมากเลย

เข้าใจเลย

เห็นด้วยๆ
1

ซึ้งจังเลย

ขำฮาตรึม

มีผู้แสดงความรู้สึก (1 คน)

ความคิดเห็น ความคิดเห็น (3 ความคิดเห็น)

ตอบกลับ ake_chomthai 2013-6-11 22:33
ละเอียดยิบเลย
ตอบกลับ minicookies_bee 2013-6-12 09:48
พี่มอร์จัง  ที่ไปจันทน์นี้อ่ะ มีเกี่ยวกับ วิถีชีวิต และชุมชนบ้างป่ะ เช่นพวก ชุมชนเก่า ตลาดเก่า ประเพณี วัฒนธรรม ไรงี้อ่ะ  อยากขอมาลงคอลัมน์อ่ะ กะลังขาดเลยยยยย เล็งชุบมือเปิบสุดฤทธิ์ ^_^
ตอบกลับ ImoreMore 2013-6-12 11:32
ไม่ได้ไปจ๊ะ พอดีเขาจัดให้ไปในแหล่งท่องเที่ยว ต่างๆ

facelist doodle วาดภาพ

คุณต้องลงชื่อเข้าใช้ก่อนจึงจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

เที่ยวทะเลตราด

Archiver|WAP|ชมไทย ชมไทยแลนด์ ชมลม ชมไทย www.chomthai.com www.chomthailand.com ติดต่อ IDLINE : akechomthai Tel. 089-780 1770 e-mail : chomthailand@gmail.com

GMT+7, 2024-4-20 02:24 , Processed in 0.333102 second(s), 17 queries .

Powered by Discuz! X2.5 Patch R20130222

© 2001-2012 Comsenz Inc.

ขึ้นไปด้านบน